ความหมายของ "กฐิน"
พิธีทอดกฐิน เป็นงานบุญที่มีปีละครั้ง ท่านจึงจัดเป็น "กาลทาน" แปลว่า "ถวายตามกาลสมัย" คำว่า "กฐิน" มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมาย ดังนี้
- กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้ กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าสะดึงก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่าจีวรเป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่ง ว่า สบง ผ้าห่ม ว่า จีวร และ ผ้าห่มซ้อน ว่า สังฆาฏิ
การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้ คือทาบผ้าลงไปกับแม่แบบแล้วตัดเย็บย้อม ทำให้เสร็จในวันนั้นด้วยความสามัคคีของสงฆ์ เป็นการร่วมใจกันทำกิจที่เกิดขึ้นและเมื่อทำเสร็จ หรือพ้นกำหนดกาลแล้ว แม่แบบหรือกฐินนั้นก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นในปีต่อๆ ไป การรื้อแบบไม้นี้เรียกว่า เดาะ ฉะนั้น คำว่า กฐินเดาะ หรือ เดาะกฐิน จึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้า - กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึงผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้
- กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญ คือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ 3 เดือน เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า ทอดกฐิน คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำว่าถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็น กาลทาน คือการถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือโอกาสทำได้ยาก
- กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือกิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลาย ก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่น ขยายเวลาทำจีวรได้อีก 4 เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน 10 วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้วอนุญาตให้แสวงหาผ้า และเก็บไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4
ประเภทของกฐิน
การทอดกฐินที่ปฏิบัติกันในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แยกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทคือ กฐินหลวง และ กฐินราษฎร์
- กฐินหลวง คือ กฐินที่พระมหากษัตริย์มีพระราชประสงค์จะทอดถวายยังวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดราษฎร์หรือวัดหลวง หากพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินแล้วจะเรียกว่า กฐินหลวง ทั้งสิ้น ในสมัยต่อๆ มา เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ประชาชนมีศรัทธาเจริญรอยตามพระราชศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดิน ได้รับพระมหากรุณา ให้ถวายผ้าพระกฐินได้ตามสมควรแก่ฐานะ เป็นเหตุให้แบ่งแยกกฐินหลวงออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
- กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี
- กฐินต้น
- กฐินพระราชทาน
- กฐินราษฎร์ เป็นกฐินที่ประชาชน หรือราษฎรที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีกำลังศรัทธานำผ้ากฐินของตนเองไปทอดถวาย ณ วัดต่างๆ (เว้นไว้แต่วัดหลวงที่กล่าวมาแล้วในกฐินหลวง) การทอดกฐินของราษฎรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีการเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามลักษณะวิธีการทอดถึง 4 รูปแบบคือ
- กฐิน หรือ มหากฐิน
- จุลกฐิน หรือ กฐินแล่น
- กฐินสามัคคี
- กฐินตกค้าง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : กฐิน บุญประเพณีที่สืบทอดพระพุทธศาสนา
จุลกฐิน เป็น "กฐินราษฎร์" แบบหนึ่ง แต่มีพิธีการและศรัทธาที่แตกต่างจากกฐินทั่วๆ ไป “จุลกฐิน” คือ กฐินแห่งศรัทธา เพราะเป็นกฐินที่ต้องใช้เวลาในการทอผ้าหนึ่งวันเต็มให้เสร็จสิ้นก่อนอรุณรุ่ง เพื่อเตรียมถวายเป็นผ้ากฐินในวันรุ่งขึ้น
จุลกฐิน เป็นการทำงานใหญ่ภายในระยะเวลาอันสั้น และจำกัด แต่มีเนื้องานที่มีขั้นตอนและอุปสรรคมาก จึงเป็นการทำบุญที่ต้องใช้แรงศรัทธาที่มุ่งมั่นเพื่อให้งานลุล่วงสมบูรณ์ไปด้วยดี โดยอาศัยการรวมพลังศรัทธาของบรรดาญาติโยม รวมทั้งฝ่ายพระสงฆ์ที่ต้องทำกันอย่างรีบเร่งอาศัยการร่วมแรง ร่วมใจกันอย่างมาก ซึ่งต่างจากการทอดกฐินธรรมดา ที่มีข้อจำกัดเพียงว่า ผ้าที่จะใช้เป็นผ้ากฐินนั้น ต้องเป็นผ้าที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และต้องได้มาอย่างถูกต้องไม่ผิดพระธรรมวินัย จะเป็นผาใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ก็ได้ จะเป็นผ้าเทียมใหม่ ที่เคยผ่านการซักมาแล้วสองสามครั้งก็ได้ จะเป็นผ้าเก่าที่เก็บไว้นานไม่ได้ใช้ก็ได้ จะเป็นผ้าบังสุกุล หรือเป็นผ้าที่เจ้าของไม่ได้ใช้แล้วก็ได้
แต่ผ้าที่นำมาใช้ใน "งานจุลกฐิน" ต้องเป็นผ้าที่เกิดจาก การทอ การย้อม การตัด การเย็บ เป็นผ้าไตรจีวรให้เสร็จภายในวันเดียว ยิ่งไปกว่านั้น เส้นใยฝ้ายที่นำมาเข้าสู่กระบวนการถัก ทอ ตัด เย็บ ย้อม นั้นเป็นฝ้ายที่มักจะปลูกกันในวันวิสาขบูชา คือวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวไร่ชาวนากำลังเตรียมดิน เตรียมตัวกันปลูกข้าว ปลูกพืชไร่กัน ทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านต่างร่วมแรงหลอมใจกันหว่านเมล็ดฝ้าย หลังจากที่ไถ พรวนดินรอไว้แล้ว
ซึ่งพิธีการต่างๆ ดูเรียบง่าย แต่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์ของชาวพุทธที่ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างมุ่งมั่น ระหว่างารหว่านเมล็ดฝ้ายลงไปในผืนดิน พระสงฆ์จะเจริญชัยมงคลคาถา อัญเชิญเทพเทวดาอารักษ์ แม่พระธรณี มาร่วมเป็นสักขีพยานต่อการกระทำงานบุญอันยิ่งใหญ่ และสิ่งที่น่าแปลกไปกว่านั้นคือ ทุกปีไม่ว่าฝนจะตก หรือน้ำจะแล้งอย่างไร แต่การปลูกฝ้ายที่อุดมด้วยพลังศรัทธาก็เติบโต ออกดอก ออกผลงอกงาม รอวันถักทอเป็นผ้าจุลกฐิน เพื่อทอดตามวันที่กำหนด คือ ช่วงหลังวันออกพรรษาของปีเดียวกัน
ตามตำนานในพุทธประวัติมีการกล่าวถึง "การทอดจุลกฐิน" ว่า องค์พระสมณะโคดมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแผ่พระญาณ ทำให้ทรงทราบว่า พระอนุรุทธ มีจีวรอันเก่าและขาด ใช้การเกือบไม่ได้ และก็เป็นเวลาจวนจะสิ้นสุดกฐินกาลแล้ว จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ ต่างก็ช่วยเป็นภาระขวนขวายหาผ้าบังสุกุลตามที่ต่างๆ แต่ก็ยังได้ผ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการที่จะเย็บเป็นจีวรได้ ความนี้ทราบถึงนางเทพธิดาซึ่งเคยเป็นภรรยาเก่าของพระอนุรุทธะเถระในชาติปางก่อน จึงได้เนรมิตผ้าทิพย์หมกไว้ในกองขยะ เมื่อพระอนุรุทธะมาพบเข้า จึงนำผ้านั้นไปซักแล้วนำไปสมทบในการทำจีวร
ซึ่งครั้งพุทธกาลนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จเป็นองค์ประธาน และทรงสนเข็มให้ในการเย็บผ้าไตรจีวรในครั้งนั้น ซึ่งทั้งพระสงฆ์สาวกพร้อมทั้งคฤหัสถ์ชายหญิงได้ช่วยกันโดยพร้อมเพรียง นับเป็นการหลอมรวมใจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดจากพลังแห่งศรัทธา จนกระทั่งนำพาให้เกิดผ้าไตรจีวรอันบริสุทธิ์ พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ทำผ้าให้แล้วเสร็จในวันนั้น ก่อนรุ่งอรุณขึ้น ถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจของหมู่ภิกษุสงฆ์ พร้อมทั้งคฤหัสถ์ชายหญิง จึงได้ชื่อว่า “จุลกฐิน คือกฐินแห่งศรัทธา” จึงกลายเป็นประเพณีนับแต่นั้นมา
คำว่า “จุลกฐิน” หลายคนคิดว่า หมายถึงการทอดกฐินเล็กๆ ที่เล็กกว่าการทอดกฐินทั่วๆ ไป เพราะคำว่า “จุล” แปลว่า ส่วนเล็กๆ หลายคนจึงเกรงว่าจะไม่ได้รับบุญมาก แต่จริงๆ แล้ว จุลกฐินเป็นกฐินที่ต้องมีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว ผู้คนที่เข้าร่วมงานในกระบวนการต่างๆ ต้องนุ่งขาว ห่มขาว ถือศีล ปฎิบัติพรมจรรย์ ก่อนการลงมือถัก ทอ ตัด เย็บ ย้อม ต้องบอกกล่าวเทพเทวาอารักษ์ และที่สำคัญต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณะโคดมถือว่า เป็นการประกอบกุศลกรรมดี เป็นมหาบุญแห่งปัญญา เป็นมหาบุญแห่งศรัทธาในการสร้างบารมีธรรม เพื่อน้อมนำตนและบริวารมุ่งสู่ทางแห่งพระนิพพาน
จึงขอเชิญชวนท่านทั้งหลาย มาร่วมกันสร้างบารมีธรรมนำตนสู่ผลของการทานอย่างมีปัญญา มุ่งสู่ผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่และมั่นคง ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพในการ ถัก ทอ ตัด เย็บ ย้อม ผืนผ้าแห่งศรัทธา ผืนผ้าแห่งความสามัคคี ผืนผ้าแห่งขันติบารมี สร้างความดีให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและครอบครัว สะสมบารมีธรรมอันยิ่งใหญ่ ด้วย “ฮีตศรัทธา สร้างบารมีธรรม”
อ่านเพิ่มเติม : การทอฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐิน
กำหนดการ งานทอฝ้ายเป็นสายบุญ จุลกฐิน ครั้งที่ ๑๑ ประจำปี ๒๕๖๒ คลิกเลย