ความเป็นมา

วัดไชยมงคล เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ วัดหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี โดยเป็นวัดที่สร้างขึ้นเป็นลำดับที่ ๔ ในบรรดาวัดที่สังกัดธรรมยุติกนิกายในจังหวัดอุบลราชธานี โดยวัดแรกที่สร้างคือ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร สร้างโดยพระพรหมราชวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๓๘ - ๒๓๘๘) นามเดิมว่า กุทอง สุวรรณกูฏ (ทิดพรหม) เจ้าเมืองอุบลราชธานี

ประตูวัด

วัดที่สร้างขึ้นเป็นลำดับ ที่ ๒ คือ วัดศรีอุบลรัตนาราม (เดิมชื่อ วัดศรีทอง) สร้างโดยคณะกรรมการเมืองอุบลราชธานี มีนามว่า พระอุปฮาด ชื่อท้าว โท (ต้น ตระกูล ณ อุบล) ซึ่งมีตำแหน่งกรมการเมือง ในสมัยโบราณเรียกว่า อาชญา สี่ ประกอบด้วย ๑.เจ้าเมือง ๒.พระอุปฮาด ๓.พระราชวงศ์ ๔.พระราชบุตร โดยเริ่มสร้าง กุฎิ วิหาร ศาลาการเปรียญ ในปี พ.ศ.  ๒๓๙๘ 

นอกจากนั้นยังได้ร่วมมือกันสร้าง วัดสุทัศนาราม ซึ่งเป็นวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกายวัดที่ ๓ ส่วนวัดไชยมงคล นั้น เป็นวัดสังกัดธรรมยุติกนิกาย ในลำดับที่ ๔

วัดไชยมงคล เป็นวัดที่สร้างขึ้นโดย เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ (พ.ศ.๒๔๐๙ – ๒๔๒๕) เจ้าพรหมเทวา เดิม ชื่อเจ้าหน่อคำ เป็นพี่ชายเจ้าจอมมารดาด้วงคำ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   โดยท่านเป็นบุตรของเจ้าคลี่ (หรือเจ้าเสือ) ซึ่งเป็นหลานปู่เจ้าอนุวงศ์ แห่งนครเวียงจันทร์ เป็นเหลนของเจ้าสิริบุญสาร ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ เป็นต้นตระกูลพรหมโมบล

มูลเหตุของการสร้างวัดไชยมงคล

เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๐๙ หลังจากที่พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์นุสรณ์ เป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานี องค์ที่ ๔ แล้วนั้น ในปีเดียวกันได้เกิดกบฏฮ่อขึ้นที่นครเวียงจันทน์ ฝั่งประเทศลาว ซึ่งขณะนั้นถือว่าแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงยังเป็นประเทศราชของประเทศไทยอยู่ เมื่อเกิดกบฏขึ้นอย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงได้มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ เจ้าเมืองอุบลราชธานี ยกกองทัพไปปราบกบฏฮ่อ ที่นครเวียงจันทน์

พระอุโบสถวัดไชยมงคล

เมื่อเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ได้รับพระบรมราชโองการแล้ว จึงสั่งให้แม่ทัพนายกองรวบรวมไพร่พล โดยท่านเห็นว่าสถานที่ตรงนี้ (บริเวณที่ตั้งวัดปัจจุบัน) มีความร่มรื่น มีต้นโพธิ์ ต้นไทรงาม เป็นจำนวนมาก มีชัยภูมิที่ดี เหมาะที่จะเป็นที่รวบรวมไพร่พล เพื่อยกกองทัพไปปราบกบฏฮ่อที่ นครเวียงจันทน์ ตามที่มีพระบรมราชโองการมา

ด้วยความที่เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์มีเชื้อสายมาจากกษัตริย์ที่เป็นนักรบ จึงสามารถปราบกบฏฮ่อสำเร็จอย่างง่ายดาย หลังเสร็จศึกจึงเดินทางกลับมาที่จังหวัดอุบลราชธานี และมีดำริที่จะสร้างอนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะขึ้น ท่านจึงรวบรวมพลังศรัทธาจากเหล่าข้าราชบริพาร ไพร่พล และชาวบ้านชาวเมือง สร้างวัดขึ้น ณ สถานที่เคยเป็นที่รวบรวมไพร่พลก่อนเดินทางไปปราบกบฏฮ่อ ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๔ โดยให้นามว่า "วัดไชยมงคล" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระปราบไพรีพินาศ ที่อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ มาประดิษฐานไว้ที่วัดไชยมงคลแห่งนี้ ส่วนอีกองค์หนึ่ง คือ พระทองทิพย์ นำไปประดิษฐานไว้ที่ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปัจจุบัน) เมื่อดำเนินการสร้างวัดเสร็จเรียนร้อยแล้ว เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ พร้อมทั้งชาวบ้าน ชาวเมือง ได้กราบอาราธนา เจ้าอธิการสีโห หรือท่านอัญญาสิงห์ จากวัดศรีอุบลรัตนาราม มาเป็นเจ้าอาวาสวัดไชยมงคลรูปแรก

ภายในพระอุโบสถวัดไชยมงคล

ลำดับเจ้าอาวาส

ในส่วนของเจ้าอาวาสวัดไชยมงคลจากอดีตถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๓) มีดังต่อไปนี้

  • เจ้าอธิการสีโห หรือเจ้าอธิการสิงห์ เจ้าอาวาสองค์แรก (พ.ศ. ๒๔๑๔) เดิมท่านพักอยู่ที่ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม ปัจจุบัน)
  • ญาครูลา บ้านเดิมอยู่ที่บ้านปลาดุก
  • ญาครูคำ บ้านเดิมอยู่ที่บ้านก้านเหลือง
  • พระอาจารย์ทอง
  • พระอาจารย์มหาคำแสน
  • พระอาจารย์กอง
  • พระครูชิโนวาทสาทร (พระมหาอุทัย ปภสฺสโร ปธ. ๔ พ.ศ. ๒๔๙๙ – พ.ศ. ๒๕๓๘)
  • พระครูมงคลชัยคุณ (พระสมชาย กลฺยาโณ พ.ศ. ๒๕๓๘ – พ.ศ. ๒๕๔๓)
  • พระครูจิตวิสุทธิญาณคุณ (พระจตุรงค์ ญาณุตฺตโม พ.ศ. ๒๕๔๓ – ปัจจุบัน)
พระครูชิโนวาท พระครูจิตวิสุทธิญาณคุณ
พระครูชิโนวาทสาทร พระครูจิตวิสุทธิญาณคุณ


          

สถานที่ตั้ง

วัดไชยมงคล เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ เลขที่ ๒ ถนนสุรศักดิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี รหัสไปรษณีย์ ๓๔๐๐๐

มีเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๓ งาน ๘๙.๗ ตารางวา ตามเอกสาร โฉนดที่ ๑๙๔๕ เลขที่ดิน ๑ หน้าสำรวจ ๑๐๖ เล่มที่ ๒๐ หน้า ๔๕ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ออกให้ตั้งแต่วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยมีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ จรดถนนพโลชัย
  • ทิศใต้ จรดถนนสุรศักดิ์
  • ทิศตะวันออก จรดถนนสาธารณประโยชน์
  • ทิศตะวันตก จรดที่ดินเอกชน

 

Joomla templates by a4joomla | Powered by IsanGate.net.