“พิธีทอดกฐิน” เป็นงานบุญที่มีปีละครั้ง ท่านจึงจัดเป็นกาลทาน แปลว่า “ถวายตามกาลสมัย” ประชาชนชาวไทยจัดพิธีนี้อย่างสนุกสนานดังคำกลอนข้างต้นนั้น
คำว่า “กฐิน” แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อนแล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือนสมัยปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเองก็จัดเป็นงานที่เอิกเกริก เช่น มีตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระเถรรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้พระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วยภิกษุสามเณรอื่นๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่ม เป็นต้น มาถวายพระสงฆ์
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว วัดหนึ่งสามารถรับได้ครั้งเดียวและต้องทำตามกำหนดเวลา และผู้ทอดก็ต้องตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน จึงนิยมกันว่าเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง พิธีเช่นนี้ได้ทั้งบริวารสมบัติ เพราะได้บอกบุญแก่ญาติมิตรให้มาร่วมการกุศล กาลทานเช่นนี้เรียกว่า ทานทางพระวินัย
- กฐินจำกัดประเภททาน คือต้องถวายเป็นสังฆทานอย่างเดียวเท่านั้น จะเจาะจงถวายพระรูปหนึ่งรูปใดไม่ได้
- กฐินจำกัดเวลา ต้องถวายภายในเวลาจำกัด คือ ภายใน ๒๙ วัน นับแต่วันออกพรรษา
- กฐินจำกัดงาน คือ พระที่รับต้องตัดเย็บและครองให้เสร็จภายในวันนั้น
- กฐินจำกัดของถวาย คือ ต้องถวายเป็นผ้าจีวร หรือสบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งจึงจะเป็นกฐิน ถ้าถวายของอื่นไม่เป็นกฐิน
- กฐินจำกัดผู้รับ คือ พระที่รับกฐินต้องเป็นพระที่จำพรรษาวัดนั้น พรรษาไม่ขาดและต้องมีไม่น้อยกว่า ๕ รูป ต้องลงรับกฐินโดยพร้อมเพรียงกัน
- กฐินจำกัดคราว คือ วัดหนึ่ง ๆ รับกฐินได้ครั้งเดียวในหนึ่งปี
กฐินมี ๒ ประเภท คือ
- กฐินราษฎร์
- กฐินหลวง
และมีอีกหนึ่งประเภทที่เรียกว่าเป็นกฐินพิเศษ คือ “จุลกฐิน”
“จุลกฐิน” คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มากยิ่งนัก เพราะต้องใช้ความอุตสาหพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ประเพณีการทอดจุลกฐินนี้ เป็นประเพณีที่พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว ไม่ปรากฏประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น สำหรับประเทศไทยมีหลักฐานว่า มีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า ๒๖๘ ว่า “ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ โปรดให้ทำจุลกฐิน”
ปัจจุบันประเพณีการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น โดยอีสานจะเรียกกฐินชนิดนี้ว่า “กฐินแล่น” (จุลกฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก) เค้ามูลของการทำจีวรให้เสร็จในวันเดียวปรากฏหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้ารับสั่งให้คณะสงฆ์ในวัดพระเชตะวัน ร่วมมือกันทำผ้าไตรจีวรเพื่อถวายแก่พระอนุรุทธะ ผู้มีจีวรเก่าใช้การเกือบไม่ได้แล้ว โดยในครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงช่วยการทำไตรจีวรด้วย โดยทรงรับหน้าที่สนเข็มในการทำจีวรครั้งนี้ด้วย
สาเหตุประการหนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด และพระสงฆ์ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินเองได้ เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆกรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐินแต่ยังไม่มีผู้นำกฐินมาถวาย ทำให้ในสมัยก่อนเมื่อใกล้เดือน ๑๒ (หมดฤดูกฐิน) มักจะมีผู้ศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่างๆ เมื่อเจอวัดที่ยังไม่ได้รับถวายผ้ากฐิน จึงต้องเร่งรีบขวนขวายจัดการทำผ้ากฐินให้เสร็จทันฤดูกฐินหมด ซึ่งบางครั้งอาจเหลือเวลาแค่วันเดียว จึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งชุมชน ในการร่วมกันจัดทำผ้าไตรจีวรให้สำเร็จก่อนหมดฤดูกฐิน (เพราะสมัยก่อนไม่มีผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปขาย) การร่วมมือกันจัดทำจุลกฐินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ร่วมกับวัดไชยมงคล และกองทุนอุบลคนละบาท จัดทำโครงการทอดถวายจุลกฐินประจำปี ๒๕๕๒ ขึ้นเป็นครั้งแรก และจัดงานอีกปี ๒๕๕๓ ต่อมา
สำหรับปี ๒๕๕๔ จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับทายกทายิกาชาวคุ้มวัดไชยมงคล เครือข่ายชาวอุบลตุ้มลูกตุ้มหลานฮักบ้านแปงเมือง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดอุบลราชธานี วุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมการคลังปัญญาผู้สูงอายุจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มเพื่อนอุบล'๔๐ กลุ่มสืบสานนำฮอยหม่อมเจียงคำชุมพล ณ อยุธยา พร้อมผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมฟื้นฟูประเพณี “จุลกฐิน” ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำได้ยาก การทำผ้ากฐินจีวรที่เริ่มมีนับแต่สมัยพุทธกาล โดยเริ่มตั้งแต่การเอาปุยฝ้ายมาปั่นด้ายและทอเป็นผ้าขาว ผ่านการเย็บ ย้อม จนสำเร็จเป็นไตรจีวร พร้อมถวายแก่พระสงฆ์เป็นผ้ากฐิน โดยใช้เวลาภายใน ๑ วัน นับแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงก่อนพระอาทิตย์ตก
โดยมีวัตถุประสงค์ที่ฟื้นฟูวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา ในการทำผ้ากฐินในอดีตซึ่งสูญหายไปตามยุคสมัยให้กับมาสู่สาระแห่งการประกอบกิจกุศล กฐินทาน ผสานความสามัคคี ความรู้ ภูมิปัญญา ในทุกแขนง เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการทำผ้ากฐินจีวร อันเป็นผ้าที่มีความหมายทางพุทธวินัย พร้อมทั้งได้ร่วมบูรณะ บำรุงกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ให้สำเร็จสมบูรณ์ สืบเนื่องมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี โดยต้องอาศัยความศรัทธา ความสามัคคี และความพยายาม ตลอดจนภูมิปัญญาต่าง ๆ ทุกแขนงของคนหมู่มาก จัดว่าเป็นมหากุศลที่ต้องอาศัยความสามัคคี อิทธิบาทธรรมทั้งสี่แห่งมหาชน เพื่อความสำเร็จในกุศล จึงกล่าวได้ว่าได้กุศลมาก บุญมาก หากได้ร่วมครั้งหนึ่ง ๆ ในชีวิตได้ร่วมกันสืบสาน “งานทอฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐิน" ปีที่ ๓ โดยจะทอด ณ วัดไชยมงคล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ พล.อ. เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กองบุญหยาดพิรุณอุ่นเกล้า เครือข่ายชาวอุบลตุ้มลูกตุ้มหลานฮักบ้านแปงเมือง หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรประชาชนและพุทธศาสนิกชน กำหนดจัดงาน “ทอฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐินวัดไชยมงคล ปีที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๔” ขึ้น ในระหว่างวันเสาร์ที่ ๕ และวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ และ ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ทอดถวาย ณ วัดไชยมงคล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
- เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ
- เพื่อส่งเสริมสืบต่อพระพุทธศาสนา
- เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป
ทอฝ้ายเป็นสายบุญ | การปลูกฝ้าย | การเก็บฝ้าย | การทอฝ้าย | การตัดเย็บจีวร | การจุบคราม