มูลเหตุการจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดไชยมงคล
ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันเด็กและเยาวชนตกเป็นเยื่อของสังคม ถูกกระทำด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฏหมาย จึงทำให้เกิดช่องว่างระหว่างการพัฒนาจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน จึงยังคงมีเด็ก เยาวชน คนชราทั้งหญิงและชายจำนวนมากพอสมควรซึ่งขาดโอกาสสำคัญที่จะได้รับผลดีจากการพัฒนาโครงการของรัฐ ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธว่ายังคงมีบุคคลกลุ่มดังกล่าวกระจายอยู่ในสังคมเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย
จากการวิจัยของบุคคลากรในพื้นที่ปรากฎว่ามีเด็กและเยาวชนเป็นผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก เช่น พ่อแม่เสียชีวิตจากโรคร้าย พ่อแม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการทำงาน ขาดแคลนทุนทรัพย์ ฐานะทางครอบครัวยากจน เป็นเด็กกำพร้าขาดคนดูแล พ่อแม่ผู้ปกครองไปทำงานต่างถิ่นไม่สามารถดูและลูกหลานได้ตามสมควร นอกจากนั้นยังมีเด็กและเยาวชนที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน ที่ส่วนมากจะมีปัญหาเรื่องสัญชาติ ซึ่งเด็กเหล่านี้สังคมมักจะเรียกว่าเด็กชายขอบ เป็นเด็กที่ได้ชื่อว่าด้อยโอกาสที่สุด เกิดมาเป็นมนุษย์แต่ไม่มีสิทธิของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมคนอื่น
เด็กและเยาวชนที่มีผลกระทบจากปัญหาชายแดน เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางภาคใต้ และแม้กระทั่งเด็กและเยาวชนที่เคยผ่านกระบวนการยุติธรรมมาแล้ว เด็กเร่ร่อนไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ขาดที่พึ่ง เด็กและเยาวชนเหล่านั้นต้องผจญชีวิตที่เต็มไปด้วยปัญหายุ่งยากตามลำพัง ขาดความรักความอบอุ่นที่ควรจะไดรับจากเด็กวัยนี้ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันและผลกระทบด้านจิตใจอย่างรุนแรงและมีแนวโน้มจะออกจากโรงเรียนกลางคันมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาสังคมตามมา
จากปัญหาต่างๆ เหล่านี้คณะผู้เป็นหลักชัยไม้เท้าของบ้านของเมืองที่ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายชาวอุบลตุ้มลูกตุ้มหลานฮักบ้านแปงเมืองมีโอกาสมานั่งคุยกัน มองถึงอนาคตของชาติที่จะฝากเอาไว้กับเด็กและเยาวชนเหล่านี้ และทุกท่านก็มีแนวความคิดอันกันคือจะปล่อยปัญหาต่างๆ ให้เป็นไปตามยถากรรมอย่างนี้ไม่ได้แล้ว จึงนำข้อปรึกษาหารือดังกล่าวไปนำเสนอต่อพระ ครูจิตวิสุทธิญาณคุณ เจ้าอาวาสวัดไชยมงคล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ซึ่งเดิมพระครูจิตวิสุทธิญาณคุณได้ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้ามารับการบรรพชาเป็นประจำอยู่แล้วในชื่อ "โครงการปลูกต้นกล้าสร้างธรรมทายาท" แต่ละปีจะมีสามเณรมาศึกษาไม่ต่ำกว่า ๒๐ – ๓๐ รูป แต่ภายในวัดไม่มีโรงเรียนส่งนักเรียนไปเรียนที่วัดข้างเคียง ท่านทำมาติดต่อกันไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี
ปรากฏว่าแต่ละปีจะมีปรากฏการณ์อันเดียวกันคือ ต้นปีจะมีสามเณรเกือบ ๓๐ รูป พอปลายปีจะเหลือสามเณรอยู่ไม่ถึง ๑๐ รูป ซึ่งปัญหาต่างๆ ก็คือโรงเรียนที่รับนักเรียนไปศึกษาต่อไม่เข้มงวดในระเบียบวินัย มีปัญหาการปกครอง ปัญหาสามเณรติดเกมส์ ปัญหาสามเณรติดบุหรี่ มากขึ้นจนกระทั่งปัญหาฉกชิงวิ่งราว ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จในแง่ปริมาณ แต่จะมีสามเณรอีกจำนวนหนึ่งที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนโดยพระครูจิตวิสุทธิญาณคุณให้ความอุปถัมภ์สามารถเรียนจนจบระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และสามารถสอบได้เปรียญธรรมประโยคสูงๆ ได้ไม่น้อยในแต่ละปี
เมื่อเครือข่ายชาวอุบลตุ้มลูกตุ้มหลานฮักบ้านแปงเมืองมีแนวความคิดอันเดียวกันจึงมีการจัดตั้ง "กองทุนหยาดพิรุณอุ่นเกล้าเพื่อเด็กผู้ด้อยโอกาส" เพื่อเป็นทุนในการขับเคลื่อนโครงการในระยะเริ่มต้น โดยมอบหมายให้พระครูจิตวิสุทธิญาณคุณ ดำเนินการเพื่อขอจัดตั้งโรงเรียนต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในระหว่างรออนุมัติให้จัดตั้งโรงเรียนได้นั้น วัดไชยมงคลได้ขออนุญาตเปิดสอนเป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนเทพสถิตวิทยาลัย
แรกเริ่มเปิดทำการเรียนการสอน จำนวน ๒ ห้องเรียน คือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ มีนักเรียนแรกเริ่ม จำนวน ๒๑ รูป มีครู ๔ คน รวมทั้งพระครูจิตวิสุทธิญาณคุณ รายจ่ายที่เกิดขึ้นได้รับความอนุเคราะห์จากวัดไชยมงคล และกองทุนหยาดพิรุณอุ่นเกล้า ห้องเรียนก็ได้อาศัยใต้ถุนกุฎีกั้นเป็นห้องเรียน ปีที่ ๒ มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น ๔๕ รูป ครูเพิ่มเป็น ๗ รูป /คน ส่วนห้องเรียนก็เพิ่มเป็น ๓ ห้อง
โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดไชยมงคล (พรหมเทวานุเคราะห์นุสรณ์) ได้รับอนุญาตให้จัดการศึกษาเต็มรูปแบบได้ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยเปิดสอนรวมทั้งหมด ๓ ระดับ ดังนี้
- ผู้ที่ยังไม่จบระดับชั้นประถมปีที่ ๖ ร่วมกับ กศน. จังหวัดอุบลราชธานี จัดการศึกษาตามอัธยาศัย
- ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
- ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
การศึกษาที่เปิดสอน ประกอบด้วย
- การศึกษาสายสามัญ จัดให้มีการเรียนการสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
- การศึกษาด้านปริยัติธรรม
- การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม สอนนักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก
- การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกภาษาบาลี เปิดสอนตั้งแต่ เปรียญธรรม ๑ – ๒ - ปธ. ๙
- การศึกษาด้านวิชาชีพ เปิดสอนวิชาชีพเป็นหลักสูตรเสริม อาชีพที่เปิดสอนในปัจจุบัน
- วิชาช่างไฟฟ้า
- วิชาช่างอิเล็คทรอนิคส์
- วิชาช่างทำความเย็น
- วิชาช่างซ่อม ประกอบคอมพิวเตอร์
- วิชาช่างเครื่องยนต์
- วิชาช่างประดิษฐ์
- วิชาช่างทำเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์
- วิชาช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์
- วิชาการทำอิฐบล๊อคประสาน
คำขวัญประจำโรงเรียน
“เรียนดี ประพฤติดี รู้หน้าที่ มีคุณธรรม”
ปรัชญาของโรงเรียน
“การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นการสร้างสรรค์ และผลิตให้ศาสนทายาท เป็นผู้มีความมุ่งมั่นต่อการนำความรู้มาใช้ให้บังเกิดผลแก่ตนเอง และสังคมทั้งชุมชนที่ตนต้องตอบแทน”
คติพจน์ประจำโรงเรียน
“สุตํ ปญฺญาย วฑฺฒนํ” การเรียนรู้เป็นเครื่องพัฒนาปัญญา
สีประจำโรงเรียน
สีเหลืองและสีขาว
ความหมายของสีประจำโรงเรียน
สีเหลือง หมายถึง สัญลักษณ์แห่งความสว่าง ความรุ่งเรือง ที่เหล่าพุทธบุตรผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางเอาไว้พึงปรารถนา
สีขาว หมายถึง สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์สะอาดของผู้ปฏิบัติตามหลักแหล่งแห่งไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา
ตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน
หงส์บนดอกบัว หมายถึง เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ เจ้าเมืองอุบลราชธานี องค์ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดไชยมงคลและเป็นที่มาของชื่อโรงเรียน
กระบี่ไขว้ หมายถึง ปัญญาประดุจดั่งอาวุธ ความรู้ต้องคู่คุณธรรม
ใบเสมาธรรมจักร หมายถึงการศึกษาทางพระพุทธศาสนา เปรียบการศึกษาควบคู่คุณธรรม เปรียบเสมือนวงล้อธรรมจักรที่หมุนอยู่ในใบเสมาและความก้าวหน้าทางด้านวิชาการ และการปฏิบัติที่เดินตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ถึงพร้อมด้วยมรรคผลและนิพพาน
หนังสือและปากกาขนไก่ หมายถึงการศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนาตลอดจนอุปกรณ์ที่นำไปสู่การศึกษาเล่าเรียน เพื่อส่งเสริมการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เพื่อจะได้เป็นผู้มีความรอบรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมไปพร้อมกัน
เส้นรัศมี หมายถึง แสงสว่างอันประดุจดังปัญญาย่อมนำไปสู่ความสำเร็จ
พระพุทธรูปประจำโรงเรียน
พระพุทธเจ้าใหญ่ไชยมงคลมิ่งเมือง
นโยบายโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดไชยมงคล (พรหมเทวานุเคราะห์นุสรณ์)
- สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเน้นการใช้สื่อนวัตกรรมการใช้ห้องสมุด
- พัฒนาบุคลากรให้มีจิตสำนึกในความเป็นครู เสียสละเพื่อส่วนรวม มีความสามารถในการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน ความมีวินัย ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูกตเวที ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
- พัฒนาอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมให้มีส่วนต่อการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น สุขภาพอนามัยของนักเรียน
- พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การประชาสัมพันธ์ให้มีความทันสมัย สามารถสนับสนุนการปฏิบัติงานโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- พัฒนาระบบการบริหาร ให้มีความสอดคล้องกันให้องค์กรต่างๆ ปฏิบัติงานได้อย่างมีความคล่องตัว
การรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาต่อ
คุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัคร
- เป็นเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาด้านต่างๆ เช่น พ่อแม่เสียชีวิตจากโรคร้าย ชีวิตจากอุบัติเหตุการทำงาน ขาดแคลนทุนทรัพย์ ฐานะทางครอบครัวยากจน ขาดคนดูแล ผู้ปกครองไปทำงานต่างถิ่น เด็กและเยาวชนที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน มีปัญหาเรื่องสัญชาติ ซึ่งเรียกว่าเด็กชายขอบ มีผลกระทบจากปัญหาชายแดน ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางภาคใต้ เคยผ่านกระบวนการยุติธรรม เด็กเร่ร่อนไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ขาดที่พึ่ง และออกจากระบบการศึกษากลางคัน
- มีความต้องการศึกษาเล่าเรียนด้วยความมุ่งมั่น
- สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามสมควร
- มีระบบจิตประสาทที่สมบูรณ์ สามารถศึกษาเล่าเรียนได้
- มีความต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น
- สามารถปฏิบัติตนได้ตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับได้อย่างเคร่งครัด
- ไม่จำกัดเกณฑ์อายุ
หลักฐานการสมัคร
- ใบสมัครตามแบบที่โรงเรียนกำหนด
- สำเนาทะเบียนบ้าน หรือเอกสารที่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน รับรองสถานะภาพ
- สำเนาเอกสารแสดงผลการเรียนชั้นสูงสุด
- รูปถ่าย ขนาด ๑.๕ นิ้ว จำนวน ๒ แผ่น
กำหนดการรับสมัคร
ตลอดปีการศึกษา
จำนวนที่รับสมัคร
ปีการศึกษาละ ๑๒๐ คน
เงื่อนไขพิเศษ
- จะต้องเข้ารับการบรรพชาหรืออุปสมบท
- ต้องพักอยู่ในวัดไชยมงคล ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เท่านั้น
- ผู้ปกครองต้องมอบอำนาจในการปกครองดูแลให้เจ้าอาวาสวัดไชยมงคล
- จะต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของวัดไชยมงคลได้อย่างเคร่งครัด
- จะต้องพักหรือศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดไชยมงคล (พรหมเทวานุเคราะห์นุสรณ์) ไม่น้อยกว่า ๑ ปีการศึกษา
สิทธิที่ผู้เข้ารับการศึกษาจะได้รับ
- ศึกษาเล่าเรียนฟรีทุกกรณี
- ได้รับความอุปถัมภ์เครื่องเขียนแบบเรียนฟรีตามความเป็นจริง
- ได้รับการดูแลที่พัก อุปกรณ์เครื่องใช้สอยประจำวัน อัฐบริขาร ภัตตาหารเช้า – เพล พอสมควรแก่สมณะบริโภค
- การรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานจากโรงพยาบาลเอกชนร่มเกล้า
- อนุญาตให้กลับเยี่ยมบ้านได้ปีการศึกษาละ ๒ ครั้ง หรือเมื่อมีความจำเป็นแล้วแต่กรณี (อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าอาวาส)
- ได้รับการคัดเลือกให้ศึกษาต่อในชั้นที่สูงขึ้นฟรี จนจบชั้นสูงสุดที่ผู้เรียนต้องการศึกษาเล่าเรียนต่อ โดยพิจารณาจากพัฒนาการด้านความประพฤติ ความตั้งใจ ความกระตือรือร้น ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
- เมื่อผู้เรียนเรียนจนจบชั้นสูงสุดแล้วไม่มีพันธะผูกพันต่อสถานศึกษาหรือทางวัด ผู้เรียนสามารถลาสิกขาเพื่อกลับไปประกอบอาชีพ หรือช่วยเหลือครอบครัวได้ตามความต้องการ
- นักเรียนผู้สามารถสอบได้เปรียญธรรมในแต่ละประโยคจะได้รับทุนการศึกษาประโยคชั้นละ ๘,๐๐๐ บาท
สถานที่ติดต่อประสานงาน
สามารถติดต่อสอบถาม ทำความเข้าใจได้ที่ พระครูจิตวิสุทธิญาณคุณ เจ้าอาวาสวัดไชยมงคล/ ผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดไชยมงคล (พรหมเทวานุเคราะห์นุสรณ์) หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๑ – ๘๗๘๒๔๖๐, โทรสาร ๐๔๕ – ๒๔๔๐๐๗, This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ผลสัมฤทธิ์ที่ผ่านมา
- ทำให้เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างถาวรได้ร้อยละ ๗๐
- สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กและเยาวชนให้มีแนวความคิดและพฤติกรรมในด้านบวกได้ร้อยละ ๗๕
- กลับไปมีวิถีชีวิตเช่นเดิม แต่ได้รับการฝึกอาชีพเพื่อให้มีแนวทางการดำเนินชีวิต ประมาณร้อยละ ๔๐
- สามารถสอบได้เปรียญธรรมประโยคสูง ๆ ได้สม่ำเสมอ
- ร้อยละ ๙๐ เลิกการสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
- ร้อยละ ๙๐ การดำเนินชีวิตมีระเบียบ มีความหมายขึ้น รู้จักการแผนอนาคต
- มีผู้สามารถเรียนจบชั้นสูงสุดในระดับปริญญาโท
- ร้อยละ ๙๐ ที่สามารถปลูกฝังความเป็นผู้มีคุณธรรม และปฏิบัติตนเป็นเยาวชนที่ดีของสังคม มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ