การเก็บฝ้าย

เก็บฝ้าย

โดยปกติแล้วจะสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวฝ้ายได้เมื่ออายุ ๑๒๐ วันหลังงอก และจะเก็บเกี่ยวไปเรื่อยๆ ทิ้งช่วงห่างกันประมาณ ๑๐ วัน เก็บเกี่ยว ๓-๔ ครั้งก็จะแล้วเสร็จ

ฝ้ายบานพร้อมเก็บ

การเก็บฝ้ายสายธารบุญ มีหลักการดังนี้

  • เก็บปุยที่แก่และแตกบานเต็มที่ แต่ต้องไม่ทิ้งให้อยู่ในไร่นานเกินไปจะทำให้คุณภาพเส้นใยลดลง
  • เก็บปุยที่แห้งไม่เปียกฝน
  • ระวังความสะอาดของปุย ให้มีสิ่งเจือปน เช่น ใบแห้ง ดินทรายให้น้อยที่สุด
  • เก็บแยกเป็นรุ่นๆ ควรแยกเป็นฝ้ายสมอล่าง สมอกลาง และสมอปลาย เพราะมีคุณภาพเส้นใยต่างกันโดยเฉพาะสมอปลาย
  • เก็บแยกตามคุณภาพ ควรแยกฝ้ายเปียก ฝ้ายฟันม้าไว้ต่างหากจากฝ้ายคุณภาพดี การเก็บปะปนกันจะทำให้ถูกตีราคารับซื้อต่ำ
  • ใช้ถุงผ้าหรือกระสอบปอที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติในการเก็บและบรรจุ อย่าใช้ถุงที่ทำจากพลาสติกจะทำให้เส้นใยพลาสติกปะปนไปในใยฝ้าย ซึ่งจะทำให้ผ้าผืนมีคุณภาพต่อเนื่องจากย้อมสีไม่ติด
  • ควรผึ่งฝ้ายไว้ในที่ร่มจะทำให้ได้เส้นใยที่มีคุณภาพดีกว่าตากแดด

การอิ้วฝ้าย

เป็นการคัดแยกเมล็ดออกจากปุยฝ้ายที่แห้งสนิทดีแล้ว ยังมีเมล็ดฝ้ายอยู่ข้างใน จึงต้องคัดแยกเมล็ดออกจากปุยฝ้าย โดยใช้เครื่องมือที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า อีดฝ้ายอิ้วฝ้าย หรือหีบฝ้าย

อิ้วอีดฝ้าย

อิ้วฝ้าย

ประโยชน์ใช้สอย

ใช้บีบเมล็ดฝ้ายให้แตกและคัดแยกเปลือกและเมล็ดออกจากปุยฝ้ายเพื่อนำไปทำเป็นเส้นด้ายสำหรับทอผ้าต่อไป

ขั้นตอนการทำงาน

  • นำเมล็ดฝ้ายป้อนเข้าทางด้านหนึ่ง ของแกนอิ้ว
  • หมุนคันอิ้วให้เมล็ดฝ้ายถูกบีบอัดให้แตกและให้ใยฝ้ายออกมาทางอีกด้านหนึ่ง

กลไกการทำงาน

  • คล้ายกับเครื่องบดปลาหมึกปิ้งในปัจจุบัน ที่มีแกนหมุนสองแกนต่ออาการซึ่งกันกันด้วยระบบฟันเฟืองที่ขบ กันอยู่ด้านนอกของเพลาบด
  • คันหมุนมือหมุนเพลาหนึ่ง ทำให้ต่ออาการไปหมุนอีกเพลาหนึ่งในทิศทางตรงกันข้าม
  • เปลือกและเมล็ดถูกกันไม่ให้ผ่านช่องแคบระหว่างเพลาบดเข้าไปได้หล่นลงด้าน ล่าง (โดยอาจมีม่านผ้ากันไม่ให้เมล็ดหล่นกระเด็นเข้าไปในอีกด้านหนึ่ง)
  • ส่วนใยฝ้ายไหลผ่านแกนหมุนไปสู่อีกด้านหนึ่งของเพลาบดได้

จุดเด่นด้านวัฒนธรรม

เสียงอิ้วบีบฝ้ายเป็นเสียงที่คู่วัฒนธรรมไทยมาช้านาน ในอดีตหากเดินเข้าไปในหมู่บ้านชาวไตจะได้ยินเสียงเพลงจากอิ้วขับกล่อมระงม ทั้งหมู่บ้าน จังหวะของเสียงอิ้วยังส่อให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของผู้หญิงหน้าแฉล้มที่เป็นต้นเหตุของเสียง ซึ่งทำให้ชายหนุ่มสามารถตัดสินใจเลือกคู่ครองได้ตามรสนิยมของตน

จุดเด่นด้านเทคโนโลยี

  • เกลียวของแกนอิ้วที่ขบกันเป็นเกลียววนเฉียง (Helical Gear) มีข้อดีคือให้กำลังบิดต่อเนื่องและเบาแรง แต่ผลิตให้ขบกันสนิทได้ยากมาก ไม่น่าเชื่อว่าคนไทยโบราณจะรู้จักคิดค้นเกลียวเฟืองแบบนี้มาช้านานแล้ว เพราะตะวันตกเองก็เพิ่งคิดค้นได้ไม่นานมานี้เอง (เริ่มแรกเป็นเฟืองแบบเกลียวตรง ที่เรียกว่า Spur Gear)
  • อิ้วบางชนิดใช้เกลียววนเฉียงแบบมีการวนย้อนกลับทาง คือเป็นเกลียวรูปตัววี ยังไม่สามารถวิเคราะห์ประเด็นทางวิศวกรรมศาสตร์ของเกลียวตัววีได้ แต่เชื่อว่าเป็นเกลียวแบบเดียวในโลกที่ไม่ซ้ำแบบที่ใด

การดีดฝ้าย

การดีดฝ้าย เป็นการดีดใยฝ้ายให้แยกเป็นอิสระและขึ้นฟู โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า "กงดีดฝ้าย" ฝ้ายที่ดีดจนขึ้นฟูแล้วจะเรียกว่าสำลี

การดีดฝ้าย

ขั้นตอนการดีดฝ้าย

  • นำปุยฝ้ายที่คัดแยกเมล็ดออกแล้วมาดีดโดยใช้ กงดีดฝ้าย ก๋งยิงฝ้าย หรือกงแก้มฝ้าย ทำจากซี่ไม้ไผ่ เหลาให้ปลายเรียวทั้งสองข้าง ใช้เชือกผูกที่ปลายทั้งสองข้างเพื่อดัดซี่ไม้ให้โค้งเข้าหากันคล้ายกับคันธนู
  • อุปกรณ์คู่กันคือ ปล้องไม้ไผ่ขนาดเล็กยาว ๖-๘ นิ้ว และกระบุงขนาดใหญ่พิเศษทรงปากกว้างพอประมาณขอบปากกระบุงด้านหนึ่งมัดท่อนไม้ขนาดประมาณ ๔ X ๖ นิ้ว เพื่อเวลาดีดฝ้ายปากกระบุงจะได้ยกหนุนสูงขึ้นจากพื้นกระบุงขนาดใหญ่นี้เรียกเป็นภาษาท้องถิ่นต่าง ๆกันว่า กะเพียด กะเพด หรือ กระหลุมยิงฝ้าย

การกวักฝ้าย

อุปกรณ์ในการกวักฝ้ายสายใยบุญ

  • มะกวักหรือบ่าก๊วก
  • หางเห็น
  • ระวิงหรือโก๋งกว้าง

การกวักฝ้ายสายใยบุญ

หลังจากย้อมสีเส้นใยฝ้าย หรือนำไปชุบน้ำข้าวและตากให้แห้ง ส่วนเส้นใยฝ้ายที่จะใช้เป็น เส้นด้ายยืน จะต้องนำมาพักด้ายโดยใช้อุปกรณ์ ๓ อย่างคือ

  • มะกวักหรือบ่าก๊วก ทำจากไม้ไผ่สานคล้ายชะลอมทรงสูงขนาดเล็กส่วนขอบปากจะสานให้บานออกเล็กน้อย
  • หางเห็น ทำจากไม้เนื้อแข็งรูปทรงคล้ายเก้าอี้เตี้ยสามขามีท่อนไม้เล็กกลมยาวยื่นออกไปคล้ายหาง สำหรับไว้เสียบมะกวัก
  • ระวิงหรือโก๋งกว้าง ส่วนเสาหลักทำจากไม้เนื้อแข็ง มีไม้ไผ่เป็นคานเสียบไม้ไผ่ที่ไขว้กันเป็น ๖ แฉก ฟากละอันโยงต่อกันด้วยเส้นเชือก

 

การกวักฝ้าย การกวักฝ้าย

 

วิธีการกวักฝ้าย

วิธีการกวักฝ้าย คือ ใส่ปอยหรือไจฝ้ายในระวิงหรือโก๋งกว้าง แล้วดึงมาพันใส่มะกวักหรือบ่าก๊วกที่เสียบอยู่กับหางเห็น จนได้เส้นฝ้ายตามปริมาณที่ต้องการ ก็จะเปลี่ยนมะกวักอันใหม่ไปเรื่อยๆ

redline

ทอฝ้ายเป็นสายบุญ | การปลูกฝ้าย | การเก็บฝ้าย | การทอฝ้าย | การตัดเย็บจีวร | การจุบคราม

 

Joomla templates by a4joomla | Powered by IsanGate.net.