ตำนานผ้าฝ้ายทอมือ
ผ้าฝ้าย
สายใยความผูกพันแห่งชีวิตและเส้นใย ฝ้าย (cotton) คือ เส้นใยเก่สาแก่ชนิดหนึ่งซึ่งใช้ในการทอผ้ามาแต่สมัยโบราณ สิ่งที่บ่งบอกให้รู้ว่ามนุษย์มีการปลูกฝ้ายและปั่นฝ้ายเป็นเส้นด้ายมานานแล้ว คือหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งขุดพบในซากปรักหักพังอายุประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาลที่แหล่งโบราณคดีโมฮันโจดาโร (Mohenjo daro) ซึ่งอยู่ในบริเวณแหล่งอารยธรรม ลุ่มน้ำสินธุในเขตประเทศปากีสถานปัจจุบัน
ส่วนการทอผ้าฝ้ายในประเทศไทยนั้น คงมีขึ้นหลังการทอผ้าจากป่านกัญชา สันนิษฐานว่าการปลูกฝ้ายในไทยรับเอาพันธุ์และวิธีการมาจากประเทศอินเดีย และหลังจากพบว่าผ้าทอจากฝ้ายมีเนื้อนุ่ม สวมใส่สบายและย้อมติดสีดีกว่าผ้าป่านกัญชา อีกทั้งขั้นตอนและกระบวนการแยกและเตรียมฝ้ายก็ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาน้อยกว่าการเตรียมป่านกัญชามาก ชาวไทยจึงค่อย ๆใช้ป่านกัญชาลดลงตามลำดับ ปัจจุบันแหล่งปลูกฝ้ายในประเทศไทย คือ จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ลพบุรี ปราจีนบุรี สุโขทัย เพชรบุรี นครราชสีมา และกาญจนบุรี
พันธ์ุฝ้ายในประเทศไทยมีหลายชนิด และมีฝ้ายพื้นเมืองอยู่ 2 สายพันธุ์ ซึ่งให้ปุยสีขาวอย่างที่มักพบเห็นทั่วไป และฝ้ายพันธ์ซึ่งให้ปุยสีน้ำตาลอ่อนที่ชาวบ้านเรียกกันว่าสีขี้ตุ่นหรือสีตุ่น และเรียกฝ้ายชนิดนี้ว่าฝ้ายตุ่น ฝ้ายตุ่นเป็นพันธุ์ฝ้ายที่หายากและปั่นยากกว่าฝ้ายพันธุ์สีขาว เนื่องจากมีปุยสั้นและไม่ค่อยฟูเหมือนพันธุ์สีขาว ดอกฝ้ายตุ่นมีขนาดเล็กสีน้ำตาล เส้นใยสั้น ใช้เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการทอผ้าด้วยมือแบบพื้นเมือง ส่วนฝ้ายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ มักใช้ทอผ้าในระดับอุตสาหกรรม
ผ้าที่ทอจากฝ้ายส่วนใหญ่คือ ผ้าทอจากทางภาคเหนือ ชาวล้านนาจะเริ่มปลูกฝ้ายราวเดือนพฤษภาคมและรอเก็บในเดือพฤศจิกายน นิยมเก็บฝ้ายก่อนที่ฝ้ายจะร่วงลงสู่พื้น ป้องกันไม่ให้ฝ้ายสกปรก หลังจากเก็บฝ้ายแล้วชาวบ้านต้องนำฝ้ายไปตาก เพื่อคัดเอาแมลงและสิ่งสกปรกออก ก่อนจะนำไปหีบหรืออีดในที่อีดฝ้าย แยกเอาเมล็ดออกก่อนนำไปปั่นเป็นเส้นด้าย
วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า
๑. ฝ้าย ฝ้ายที่ทอในปัจจุบันไม่ได้ปลูกเอง แต่จะซื้อสำเร็จรูป ซึ่งมีทั้งฝ้ายที่ย้อมสีสำเร็จและฝ้ายที่ต้องนำมาย้อมสีเอง
๒. กี่ทอผ้า การทอผ้าฝ้ายของกลุ่มสตรีบ้านเหล่าปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการทอด้วยกี่กระตุก เนื่องจากเป็นการทอผ้าที่มีหน้ากว้าง การทอด้วยกี่กระตุกช่วยทำให้การทอผ้ารวดเร็วขึ้น โดยเพิ่มปริมาณความยาวของผ้าได้มากกว่าการทอผ้าที่พุ่งกระสวยด้วยมือ กี่กระตุกที่พบในปัจจุบันมี ๒ ขนาด คือ กี่ขนาดใหญ่ใช้ทอผ้าที่มีความกว้างมาก เวลาทอต้องใช้คน ๒ คนช่วยกันพุ่งกระสวยไปมา ส่วนกี่ขนาดที่สองเป็นกี่ขนาดเล็กซึ่งใช้แรงงานของคนทอเพียงคนเดียว
เครื่องทอผ้าพื้นเมืองที่เรียกว่า กี่ หรือหูกทอผ้า กี่ แต่ละหลังมีส่วนประกอบหลายอย่าง ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกันทั้งหมดในขณะทอผ้า ส่วนประกอบต่างๆ ดังกล่าวได้แก่
- ฟืม ทำจากต้นไม้ยาวพอสมควรตามขนาดของกี่ มีด้ามสำหรับจับเพื่อใช้ดึงให้ฟืมดันฝ้ายเส้นพุ่งให้ติดกันแน่นเป็นผืน
- เขาฟืม มีลักษณะเป็นท่อนกลมๆ ยาวๆ ทำจากวัสดุหลายชนิด เช่น ไม้ไผ่ ท่อพลาสติกหรืออลูมิเนียม จำนวนของเขาฟืมจะขึ้นอยู่กับจำนวนตะกอ ถ้าผ้าที่ทอมี ๒ ตะกอ จะใช้เขาฟืม ๒ เขา ถ้าผ้าที่ทอมี ๔ ตะกอ จะมีเขาฟืม ๔ เขา เขาฟืมจะอยู่ด้านหลังของฟืมต่อกับไม้เหยียบด้านล่างใช้เชือกโยงกับเขาฟืม ซึ่งต่อเนื่องกับไม้หาบฟืมด้านบน เขาฟืมมีไว้สำหรับสลับด้ายเส้นยืนเพื่อสอดกระสวยด้ายเส้นพุ่งเข้าไปก่อนการตอกด้วยฟืม
- ไม้เหยียบ ตะกอทำจากไม้ไผ่หรือไม้สัก ขนาดกว่างประมาณ ๒-๓ นิ้ว ความยาวประมาณ ๒-๓ ฟุต สำหรับให้ผู้ทอเหยียบในขณะที่ทอเพื่อสลับเส้นฝ้าย ไม้เหยียบนี้จะอยู่ด้านล่างของกี่ เมื่อเหยียบไม้แล้วจะช่วยยกเส้นฝ้ายขึ้นลงเป็นลายขัดกัน จำนวนของไม้เหยียบจะขึ้นอยู่กับจำนวนเขาฟืมที่กำหนดลวดลายที่จะทอ ซึ่งเรียกว่าลาย ๒ ตะกอ ลาย ๔ ตะกอ
- เขี้ยวหมาหรือฟันปลา ทำจากไม้จริง ส่วนใหญ่เป็นไม้สัก เลื่อยเป็นซี่ๆ คล้ายฟันของเลื่อย ใช้สำหรับแยกฝ้ายเส้นยืนไม่ให้พันกันและง่ายต่อการคลี่ฝ้ายออกเป็นผืน
- ไม้หาบเขาและไม้หาบฟืม ทำจากไม้ไผ่หรือไม้สักขนาดใหญ่ พาดขวางอยู่บนคานของกี่ในแนวเดียวกับเขาและฟืม โดยใช้เชือกผูกโยงกับเขาและฟืม เพื่อยึดกับกี่ให้มีความแข็งแรง เนื่องจากการทอใช้แรงในการดึงเขาขึ้นลงและดึงหรือตอกฟืมเข้าออกในแนวนอน ในอดีตหลังจากการทอผ้าแล้วเสร็จในแต่ละวัน เจ้าของผลงานต้องนำผ้าที่อยู่ระหว่างการทอพร้อมอุปกรณ์การทอจากกี่ทอผ้าทั้งชุดขึ้นไปเก็บบนเรือน เพื่อป้องกันการสูญหายจากการขโมยผ้า โดยใช้วิธีถอดอุปกรณ์การทอทั้งหมดจากกี่ทอผ้า รวมกันไว้เป็นชุด หาบไว้บนไหล่แล้วเดินเข้าเรือน จึงเป็นชื่อเรียกของไม้หาบเขา หาบฟืม
- มะล้อ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับกระตุกและดันกระสวยให้พุ่งไปมา ซึ่งประกอบด้วยไม้โยกขึ้นลง ซึ่งติดอยู่กับคานที่พาดขวางบนกี่ ไม่โยกมีการถ่วง ๒ ข้าง มีแกนของไหมล้อซึ่งใช้เป็นที่จับสำหรับกระตุกไม้โยกขึ้นลง โดยผู้อยู่ข้างที่ผู้ทอมีความถนัด
- หัวนก เดิมใช้ไม้เพราะเหล็กหายาก ปัจจุบันใช้รอกซึ่งหาได้ง่าย มีความทนทาน แต่ละกี่จะใช้หัวนก ๒ อัน ผูกไว้โยงกับด้านซ้ายขวาของเขาฟืมทั้งสองอัน และคล้องกับไม้หาบฟืมด้านบน มีความสัมพันธ์กับไม้เหยียบ คือ เมื่อเหยียบไม้เพื่อลดเขาฟืมอันหนึ่งลง เชือกที่คล้องผ่านรอกหรือหัวนกจะดึงลงพร้อมกับการยกเขาฟืมอีกอันหนึ่งขึ้น เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างด้ายเส้นพุ่งที่สลับกันสำหรับพุ่งกระสวยผ่านเข้าไปได้
- กระสวยและหลอดไม้ กระสวยเป็นอุปกรณ์ลักษณะยาวรี เจาะเป็นช่องตรงกลางเพื่อใส่หลอดไม้พันฝ้ายเจาะรูด้านข้าง ขนาดให้เส้นฝ้ายลอดผ่านได้ ปลายของกระสวยทั้งสองข้างอาจมนหรือแหลมตามลักษณะการใช้งาน ถ้าหัวมน เอาไว้ใช้สำหรับกี่กระตุก ส่วนหัวแหลมไว้สำหรับพุ่งด้วยมือ ในขณะที่ทอ ผู้ทอจะพุ่งกระสวยไป มา เพื่อให้เส้นฝ้ายที่พุ่งไป มา ไปขัดกับฝ้ายที่เป็นเส้นยืน หลอดไม้ใช้สำหรับพันฝ้ายเส้นพุ่ง ในขณะใช้งานจะนำไปเสียบกับกระสวย หลอดไม้ทำจากปล้องไม้ไผ่บง ซึ่งมีความหนาและทนกว่าไม้ไผ่ทั่วไป มีรูทะลุตลอดปล้องสำหรับเสียบเหล็กเพื่อยึดกับกระสวย
- ไม้สะป้าน สำหรับพันเนื้อผ้าที่ทอเสร็จแล้ว
๓. เฟือขอ มีลักษณะเป็นโครงสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาจทำจากไม้หรือเหล็กก็ได้ โดยปลายทั้งสองข้างตามแนวนอนมีด้ามเล็กๆ ยึดติดอยู่เป็นระยะ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียงด้ายเส้นยืนตามความยาวที่ต้องการ
๔. กงกว๊าง เป็นอุปกรณ์สำหรับคลี่เส้นฝ้ายเพื่อให้ง่ายต่อการทำมาปั่นใส่กระป๋อง
๕. กระป๋องหรือหลอดฝ้ายขนาดใหญ่ กระป่องหรือโครงไม้เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้พันฝ้าย
๖. เพียนปั่นด้าย เพียนปั่นด้ายเข้าหลอดหรือกงปั่นหลอดด้าย ปัจจุบันทำจากซี่และวงล้อรถจักรยาน ใช้สำหรับกรอเส้นฝ้ายที่เป็นเส้นพุ่งใส่หลอดไม้ไผ่ที่จะนำไปใส่ในกระสวย
๗. บันไดลิง บันไดลิงในอดีตมีลักษณะเป็นเถาวัลย์ ที่มีลักษณะโค้งงอเหมือนบันได ปัจจุบันบันไดลิงหายาก จึงเปลี่ยนมาใช้ไม้ตอกตะปูห่างกันประมาณ ๓ นิ้ว โดยดัดตะปูให้โค้งงอสำหรับเกี่ยวเส้นฝ้ายไว้และยังคงใช้ชื่อเรียกดังเช่นอดีต
ขั้นตอนการทอผ้าฝ้าย
ขั้นตอนที่ ๑ นำฝ้ายเป็นใจมาคลี่ออกใส่กงกว๊าง เพื่อนำไปพันใส่บ่าหลุกกวักฝ้าย แล้วนำมาขินหรือปั่นใส่กระป๋องหรือหลอดไม้ขนาดใหญ่ การปั่นฝ้ายใส่กระป๋อง ถ้าต้องการเส้นฝ้ายที่มีเส้นใหญ่ อาจจะปั่นครั้งละ ๒-๓ ใจ ให้เส้นฝ้ายมารวมกัน
ขั้นตอนที่ ๒ นำกระป๋องที่มีเส้นฝ้ายพันอยู่ไปเรียงตามลำดับ สี ของเส้นฝ้ายเส้นยืนตามลวดลายที่จะทอ โดยนำมาเรียงครั้งละประมาณ ๔๐ กระป๋อง จะได้เส้นฝ้ายยืนครั้งละ ๔๐ เส้น แล้วนำแต่ละเส้นไปคล้องกับบันไดลิง เพื่อไม้ให้เส้นฝ้ายพันกันและขึ้นเฟือขอต่อไป
ขั้นตอนที่ ๓ นำฝ้ายเส้นพุ่งจากบันไดลิงมาขึ้นเฟือขอ ซึ่งเฟือขอจะทำหน้าที่สำหรับเรียงฝ้ายเส้นยืนตามความยาวที่ต้องการ และทำการสลับเส้นยืนสำหรับใช้กับตะกอเส้นขึ้นเส้นลงด้านล่างของเฟือขอเมื่อสิ้นสุด การเรียงเส้นฝ้ายจะนำแต่ละเส้นมาม้วนเพื่อให้เกิดลักษณะของการสลับเส้น สำหรับการทอยกเป็นเส้นขึ้นเส้นลงที่ด้านล่างขาวของเฟือขอ
ขั้นตอนที่ ๔ นำกลุ่มฝ้ายเส้นยืนจากเฟือขอมาขึ้นกี่ แล้วคลี่ฝ้ายเส้นยืนตามที่ได้กำหนดไว้ โดยใช้เขี้ยวหมาหรือฟันปลาเป็นตัวช่วยในการสางเส้นฝ้ายแต่ละกลุ่มเส้นออกจากกัน เส้นด้ายในการทอลายหนึ่ง เพื่อแยกเส้นด้ายในการนำไปสืบฝ้ายกับเขาฟืม
ขั้นตอนที่ ๕ หากทอลายเดิมที่เคยทอมา ก็จะนำฝ้ายเส้นยืนใหม่มาต่อกับเศษผ้าฝ้าย หรือเชิงชายที่ตัดมาจากการทอครั้งก่อนที่เรียกว่า "เครือ" เมื่อทอผ้าเสร็จแล้ว ช่างทอจะตัดผ้าที่ทอแล้วออกจากกี่ โดยคงเหลือเศษผ้าฝ้ายหรือเชิงชายจากการทอให้ติดอยู่กับตะกอและฟืม เพื่อเป็นต้นแบบของลาย หากจะมีการทอลายนั้นในครั้งต่อไป เพื่อให้การสืบต่อลายทำได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าไม่เก็บไว้ การเริ่มต้นขึ้นลายใหม่จะมีความยากลำบากมาก ดังนั้นช่างทอจึงต้องเก็บลายไว้ทุกเครือ เนื่องจากเส้นยืนมีความยาวมาก ก่อนทอหรือเมื่อทอไปได้สักระยะหนึ่ง เส้นยืนอาจจะพันกันได้ ดังนั้นจึงต้องคอยคลี่จัดเส้นยืนออกไม่ให้พันกัน
ขั้นตอนที่ ๖ หลังจากการสืบลายแล้ว สามารถเริ่มกระบวนการทอได้ โดยการเหยียบไม้เหยียบเพื่อยกเขาฟืมขึ้นลง แล้วพุ่งกระสวยสอดเข้าไปในช่องว่างระหว่างเส้นยืน ให้เส้นพุ่งพุ่งไปขัดกับเส้นยืน และใช้ฟืมดันให้เส้นพุ่งอัดเรียงกันแน่น แล้วใช้เท้าเหยียบไม้เหยียบให้ตะกอเส้นยืนสลับขึ้นลง และพุ่งกระสวยกลับไปกลับมาขัดกับเส้นยืน หลังจากที่พุ่งเส้นพุ่ง ไป มา และใช้ฟืมดันให้เส้นพุ่งแน่นหลายๆ ครั้ง ก็จะได้ผ้าทอเป็นผืน แล้วนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป
ทอฝ้ายเป็นสายบุญ | การปลูกฝ้าย | การเก็บฝ้าย | การทอฝ้าย | การตัดเย็บจีวร | การจุบคราม