ฝ้าย

ฝ้าย เป็นพืชเศรษฐกิจเจริญเติบโตในบริเวณที่มีอากาศร้อน ลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทราย อากาศโปร่ง ไม่ชอบที่ร่มเงาบัง เส้นใยของฝ้ายดูดความชื้นได้ง่าย เหมาะสำหรับการเป็นเครื่องนุ่งห่มในเมืองร้อนเพราะฝ้ายดูดความชื้นแล้วความชื้นจะระเหยกลายเป็นไอ ผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้าด้วยผ้าฝ้ายจะรู้สึกเย็นสบาย

การปลูกฝ้าย

ฝ้ายจะปลูกในเดือนพฤษภาคมต่อกับเดือนมิถุนายน หรือเดือนกรกฎาคมต่อเดือนสิงหาคม แล้วแต่ภูมิภาคที่ปลูก ซึ่งเป็นฤดูฝนเป็นช่วงที่ฝ้ายได้รับฝนดี ครั้นประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมฝ้ายจะแก่และแตกปุย การปลูกฝ้ายชาวบ้านจะปลูกไปพร้อมๆ กับการปลูกข้าว ระยะเวลาที่ใช้ในการปลูกฝ้ายจนกระทั่งสามารถเก็บปุยได้ใช้เวลาประมาณ ๖ - ๗ เดือน ชาวบ้านทุกครัวเรือนสามารถปลูกฝ้ายได้ แล้วนำเส้นใยของฝ้ายมาทอเป็นผืนผ้า สำหรับเป็นเครื่องนุ่งห่ม และใช้ในชีวิตประจำวัน

ฤดูปลูกฝ้าย

แรกแย้มของดอกฝ้ายฤดูปลูกฝ้าย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่ต้องกำหนด เพราะปลูกฝ้ายก็เพื่อให้ได้ปุยฝ้ายสีขาวสะอาด ฉะนั้นจึงต้องกำหนดให้ฝ้ายไปแก่แตกปุยแตกสมอในเมื่อฝนหยุดแน่นอนแล้ว อายุของฝ้ายที่ปลูกเป็นอุตสาหกรรมโดยทั่วไป ตั้งแต่วันเริ่มงอกถึงวันแตกสมอ ใช้เวลาประมาณ ๑๒๐ วัน ถ้าปลูกฝ้ายต้นฤดูเกินไป ต้นฝ้ายจะงามก็จริง แต่เมื่อฝ้ายแตกสมอแล้วฝนยังไม่หยุดทำให้ปุยฝ้ายเปียกเสียได้ และถ้าปลูกล่าเกินไปต้นฝ้ายก็จะเล็กได้ผลิตผลต่ำ ฉะนั้น ฤดูกาลสำหรับปลูกฝ้ายจึงต้องเลือกเอาเวลาที่จะให้ผลดีที่สุด เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นท้องที่ที่ฝนหมดเร็วและดินไม่อุ้มน้ำนั้น จะต้องปลูกฝ้ายในระยะปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม จะให้ผลิตผลดี ในภาคเหนือ เช่น แพร่ น่าน และลำปาง ควรจะปลูกในต้นเดือนกรกฎาคม ในภาคกลางตอนเหนือ เช่น แถบสุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ สระบุรี และลพบุรี ปลูกได้ดีภายในเดือนกรกฎาคม ส่วนในภาคกลางตอนล่าง ตั้งแต่นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ลงไปถึงเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์นั้น ควรปลูกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม การที่ต้องกำหนดเวลาปลูกแตกต่างกันไปเช่นนี้ก็เนื่องจากฤดูฝนหมดไม่เหมือนกัน

การเตรียมดิน

ควรทำการเตรียมดินก่อนถึงฤดูปลูกประมาณ ๑ เดือน โดยการไถดะ ๑ ครั้ง พลิกดินและตากไว้ปล่อยให้วัชพืชแห้งตาย นอกจากนี้ศัตรูพืชอื่นๆ เช่น เชื้อโรค และแมลงศัตรูต่างๆ ก็จะถูกทำลายไปด้วย หลังจากนั้นประมาณ ๒ – ๓ สัปดาห์ จึงไถแปร ต่อมาก็ทำการพรวนดินให้มีขนาดละเอียดพอสมควรที่จะหยอดเมล็ดฝ้ายได้

ระยะปลูก

ระยะระหว่างแถว ๑๒๕ ซม. ระหว่างหลุม ๕๐ ซม.

วิธีการปลูก

ควรปลูกฝ้ายเป็นแนวขวางทิศทางลม โดยการหยอดเมล็ดเป็นหลุมๆ หลุมละ ๕ - ๗ เมล็ด กลบดินให้มิดเมล็ด การปลูกจะมี ๒ วิธีคือ

  • การปลูกเมื่อดินมีความชื้นพอแล้ว วิธีนี้หลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์แล้วจะกลบดินเพียงบาง ๆ ประมาณ ๒.๕ ซม.
  • การปลูกเพื่อรอฝน เป็นการปลูกในขณะที่ดินยังแห้งและมีความชื้นไม่เพียงพอกับการงอก วิธีนี้จะต้องกลบดินให้หนาเมล็ดอยู่ลึกประมาณ ๕ ซม.

การดูแลรักษา

ระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ

ฝ้ายเริ่มงอกหลังจากปลูกไปแล้ว ๓ - ๕ วัน และมีช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบประมาณ ๒๘ วัน เมื่อฝ้ายอายุได้ ๑๕ - ๒๐ วัน ควรทำการถอนแยกต้นฝ้ายครั้งแรก ให้เหลือ ๒ ต้นต่อหลุม และทำการกำจัดวัชพืชด้วย ในระยะนี้เกษตรกรควรระมัดระวัง แมลงศัตรูฝ้ายประเภทปากดูด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ เข้าทำลาย หากพบว่ามีการระบาดของแมลงประเภทนี้ให้พ่นสารเคมี โอเมทโธเอท หรือโมโนโครโตฟอส อย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนโรคฝ้ายที่สำคัญในระยะนี้คือ โรคใบหงิก ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส โดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นตัวนำเชื้อมาสู่ต้นฝ้าย ดังนี้หากกำจัดเพลี้ยอ่อนลงได้ ก็จะช่วยลดปริมาณการเป็นโรคใบหงิก ของฝ้ายได้

ระยะติดปี้ (ดอกอ่อน)

ฝ้ายเริ่มมีดอกอ่อน หรือติดปี้เมื่ออายุ ๒๘ - ๓๐ วัน ระยะนี้เกษตรกรควรถอนแยกต้นฝ้ายให้เหลือต้นที่สมบูรณ์ เพียง ๑ ต้น ต่อหลุมมีการกำจัดวัชพืช และใส่ปุ๋ย พูนโคนต้นฝ้าย ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็น

  • ปุ๋ยสูตร ๒๐-๒๐-๐ อัตรา ๓๐ - ๔๐ กก./ไร่ ในพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวสีดำ
  • ปุ๋ยสูตร ๑๒-๒๔-๑๒ อัตรา ๔๐ - ๖๐ กก./ไร่ ในพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวสีแดง

ระยะออกดอก

ดอกฝ้ายบานฝ้ายออกดอกหรือดอกบานเมื่ออายุประมาณ ๔๐ - ๕๐ วัน ควรระมัดระวังการเข้าทำลายของหนอนเจาะสมอฝ้าย โดยหมั่นตรวจแปลงฝ้ายทุก ๓ - ๕ วัน ในพื้นที่ขนาด ๕ ไร่ ทำการสุ่มตรวจต้นฝ้ายให้ ทั่วแปลงจำนวน ๓๐ ต้น ถ้าพบหนอนเจาะสมอฝ้ายมากกว่า ๖ ตัว จะต้องรีบพ่นสารเคมีกำจัด โดยใช้สารเคมีในกลุ่มออร์แกนโนฟอสเฟต เช่น ซัลโปรฟอส หรือ โปรเฟนโนฟอส สลับครั้งกับสารเคมีในกลุ่มอื่น ต้องไม่ใช้สารฆ่าแมลงเพียงกลุ่มเดียวฉีดพ่นกำจัดหนอนติดต่อกันตลอดฤดู

ระยะติดสมอ

ฝ้ายจะเริ่มติดสมอเมื่ออายุประมาณ ๖๐ - ๖๕ วัน ในระยะที่ฝ้ายติดสมอจนถึงช่วงก่อนสมอแก่ (๑๐๐ วัน) เกษตรกรต้องดูแลรักษาฝ้ายเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการป้องกันกำจัดหนอนเจาะสมอฝ้ายเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในระยะที่ฝ้ายออกดอก หากพบว่ามีแมลงปากดูดชนิดใดชนิดหนึ่งระบาดจำเป็นต้องใช้สารเคมีประเภทดูดซึม เช่น โมโนโครโตฟอสพ่นเสริมด้วย

การใส่ปุ๋ย

มักจะปฏิบัติไปพร้อมกับการพรวนดินพูนโคน จะใส่ปุ๋ยเมื่อฝ้ายอายุประมาณ ๓-๔ สัปดาห์ หลังงอก การให้ปุ๋ยฝ้าย ๒ วิธี ดังนี้

  • การให้ทางดิน จะให้แบบโรยข้าง ๆ แถวฝ้าย อัตราปุ๋ยที่แนะนำคือ
    • ในดินเหนียวสีดำ ควรใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ๓๐ กก./ไร่ หรือให้ปุ๋ยยูเรีย ๑๓ กก./ไร่
    • ใช้ดินเหนียวสีแดง ควรใช้ปุ๋ยสูตร ๑๒-๒๔-๑๒ อัตรา ๕๐ กก./ไร่
  • การให้ทางใบ จะผสมน้ำแล้วพ่นให้ทางใบฝ้าย มีปุ๋ยสูตรต่างๆ ในตลาดเกษตรกรนิยมใช้ปุ๋ยทางใบกับฝ้าย

ดอกฝ้ายที่แก่แล้วการกำจัดวัชพืช

โดยใช้แรงงานคน สัตว์ เครื่องจักรกล หรือฉีดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืช

โรคที่สำคัญ

ได้แก่ โรคใบหงิก โรคใบไหม้ โรคใบจุด และโรคเหี่ยว

แมลงศัตรูฝ้าย

  • ชนิดปากดูด ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว
  • ชนิดปากเจาะ ได้แก่ หนอนเจาะสมอฝ้าย

การใช้ประโยชน์

  • ปุยฝ้าย(Lint or Fiber)
    • ใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม
    • เครื่องใช้ภายในบ้าน
    • วัตถุทางอุตสาหกรรม ยางรถยนต์ เบาะที่นั่ง เชือก ถุง สายพาน ผ้าใบ ท่อส่งน้ำ และการผลิตเส้นใยเทียม หรือ เรยอง (rayon)
  • เมล็ดฝ้ายซึ่งประกอบด้วย ขนปุยที่ติดกับเมล็ด (linter or fuzz) เปลือกเมล็ด (Seed coat) และเนื้อในเมล็ด (Kernel) ส่วนประกอบแต่ละอย่างของเมล็ดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
    • ขนปุย (linter or fuzz) : นำไปใช้ทำผ้าซึมซับ ทำเบาะผ้าสักหลาด พรม วัตถุระเบิด และอุตสาหกรรม เซลลูโลส เช่น ทำเส้นใยประดิษฐ์ ฟิล์มเอ๊กซเรย์ พลาสติก
    • เปลือกเมล็ด (Seed Coat) : นำไปใช้ทำเป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย อินทรีย์ ใช้ในด้านอุตสาหกรรมพลาสติก ทำยางเทียม และเป็นส่วนประกอบในการเจาะและกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง
    • เนื้อในเมล็ด (Kernel) เป็นส่วนสำคัญของเมล็ดฝ้ายที่ใช้ประโยชน์ต่อมนุษย์ โดยนำไปสกัดเอาน้ำมัน (oil) ซึ่งใช้เป็นน้ำมัน ประกอบอาหารชนิดดีใช้ทำเนยเทียม ใช้เป็นตัวทำละลาย (Solvent or emulsifier) ในโรงงานอุตสาหกรรม ทำยารักษาโรค สารปราบโรคและแมลงศัตรูพืช เครื่องสำอาง ยางพลาสติก เครื่องหนังกระดาษและอุตสาหกรรมสิ่งทอ กากที่เหลือหลังจากสกัดเอาน้ำมันออกแล้ว มีปริมาณโปรตีนสูง นำไปทำเป็นอาหารสัตว์ เป็นปุ๋ย และมีการนำไปทำอาหารมนุษย์ เช่น ผสมทำขนมปัง ผสมอาหารพวกที่มีเนื้อ เช่น ทำไส้กรอก

ช่วงตั้งแต่เริ่มงอกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรมีการตรวจนับแมลงทุก ๓-๕ วัน และเมื่อพบว่า มีการระบาดถึงระดับเศรษฐกิจให้ฉีดพ่นสารเคมีกำจัด เริ่มงอกจนถึงช่วงติดปี้ เน้นการป้องกันกำจัดแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยอ่อน สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ สารกลุ่มโมโนโครโตฟอส ตั้งแต่ช่วงติดปี้จนถึงเก็บเกี่ยว เน้นการป้องกันกำจัดหนอนเจาะสมอฝ้าย สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ สารกลุ่ม ออร์แกนโนฟอสเฟต สลับกับสารเคมี กลุ่มอื่นๆ

redline

ทอฝ้ายเป็นสายบุญ | การปลูกฝ้าย | การเก็บฝ้าย | การทอฝ้าย | การตัดเย็บจีวร | การจุบคราม

 

Joomla templates by a4joomla | Powered by IsanGate.net.